สถานีรถไฟกันตัง
สถานีรถไฟกันตัง : เป็นสถานีรถไฟสุดทาง ของทางรถไฟสายใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่บนถนนหน้าค่ายตำบลกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายนพ.ศ. 2456 ตัวสถานีเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาลแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ตัวอาคารและชานชาลา ด้านหน้าอาคารมีมุขยื่นประดับมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ ประตูบานเฟี้ยมแบบเก่าคงเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีความสวยงามเป็นพิเศษปัจจุบันสถานีรถไฟกันตังได้รับประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร
สถานีรถไฟกันตังในอดีตถูกใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียมีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร จากตัวสถานีถึงท่าเทียบเรือกันตังซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันทางรถไฟส่วนนี้ถูกชาวบ้านรุกล้ำที่และไม่มีรางรถไฟส่วนนี้แล้ว
สถานีรถไฟกันตังมีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งอดีต มีความหมายยิ่งต่อวงการรถไฟไทยยุคแรก ๆ นั่นคือหัวรถจักรรุ่นต่าง ๆตลอดจนโบกี้รถไฟที่ผลิตในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรืออินเดีย โดยจะมาทางเรือและขึ้นเทียบท่าที่กันตัง ก่อนออกวิ่งบนรางรถไฟต่อมายังกรุงเทพฯอีกที
เมื่อเวลาผ่านไปเส้นทางในการส่งสินค้าแปรเปลี่ยนไปตามแหล่งผลิตเช่นการที่รถไฟหันไปสั่งหัวรถจักรมาจากญี่ปุ่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เส้นทางรถไฟฝั่งอันดามันที่ต่อเชื่อมไปยังท่าเรือกันตังถูกทิ้งร้างลงดังเช่นทุกวันนี้
ตัวสถานีรถไฟกันตังเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาลอันเป็นคู่สีหลักที่คุ้นตาของอาคารรถไฟทั่วไป ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนตัวอาคารและชานชาลา ด้านหน้าของอาคารมีมุข ยื่น มีการตกแต่งประดับมุมเสาด้วยลวดลายไม้ฉลุ
ส่วนตัวอาคารที่ทำเป็นห้องมีผนังไม้ตีตามตั้งโชว์แนวเคร่า พร้อมช่องลมระแนงไม้ตีทแยงบานประตูหน้าต่างไม้แบบเก่า ส่วนที่เป็นโถงมีรั้วลูกกรงไม้พร้อมบานประตูขนาดเล็กกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนส่วนด้านหลังอาคารเป็นชานชาลามีหลังคาจั่วคลุมแยกต่างหาก โดยเสารับหลังคาชานชาลานี้มีค้ำยันไม้ฉลุตกแต่งให้กลมกลืนกับตัวอาคาร
ภายในสถานียังพอมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีตคงเหลืออยู่บ้างโดยภาพรวมแล้วยังรักษาเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไว้ได้เป็นอย่างดีนับเป็นสถานีรถไฟที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ จากสถานะที่มีความสำคัญต่อกิจการรถไฟดังที่กล่าวมาซึ่งเป็นผลทำให้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดตรังจากกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2539
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2456 ที่สถานีรถไฟกันตัง เปิดทำการเดินรถเป็นครั้งแรก ต้นทางจากสถานีกันตัง ปลายทางสถานีห้วยยอด นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 100 ปีแล้วที่ สถานีรถไฟกันตัง เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ช่วยบอกเล่าความเป็นมาอันเก่าแก่ของเมืองกันตัง ที่เป็นเมืองท่าขนส่งสินค้า รวมถึงเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆในอดีตที่นำเข้าจากต่างประเทศผ่านทาง สิงคโปร์ มาขึ้นท่าที่เมืองกันตังก่อนส่งต่อไปยังอำเภอทุ่งสง ชุมทางรถไฟสำคัญของภาคใต้ ทำให้การเดินทางและการขนส่งพัสดุภัณฑ์ต่างๆทางเรือจากภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล และปีนัง จะเข้ามารับส่งผู้โดยสารและสินค้าที่ท่าเรือกันตัง แล้วโดยสารรถไฟต่อไปยังที่อื่นๆ
เส้นทางรถไฟจากสถานีกันตังจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญทางฝั่งทะเลตะวันตกของไทย และถือเป็นสถานีสุดท้ายปลายทางเส้นทางรถไฟฝั่งตะวันตก สถานีรถไฟจึงถือได้ว่าเป็น สุดเส้นทางรถไฟสายอันดามัน ในปัจจุบันพื้นที่ในบริเวณสถานีรถไฟยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งที่เป็น วัตถุ และสิ่งก่อสร้าง ที่ช่วยบอกเล่าความเป็นมาอันเก่าแก่ของสถานีรถไฟกันตังเช่น ที่กลับกลับหัวรถจักรแบบหมุนได้ (สำหรับกลับหัวรถจักรไอน้ำ) บ่อน้ำ หอถังเก็บน้ำเหล็ก รวมทั้ง แนวคานคอนกรีตโครงสร้างของโรงงานประกอบและซ่อมหัวรถจักร
การรถไฟแห่งประเทศไทยและเทศบาลเมืองกันตัง ได้ปรับปรุงสถานีรถไฟกันตัง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดทำห้องสมุดรถไฟ ที่เปิดบริการให้เด็ก ๆ มาใช้เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากในห้องเรียน โดยห้องสมุดนี้นำตู้รถไฟเก่ามาต่อเติมดัดแปลงให้เหมาะสม บรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่นเหมาะแก่การมาอ่านหนังสือจริง ๆ จัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับสิ่งดีๆมีคุณค่าจากสถานีรถไฟเก่าแก่แห่งนี้ และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวเมืองกันตังสืบต่อไป
สถานีรัก
และสถานีกันตังแห่งนี้ก็มีร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง ชื่อว่า “LOVE STATION” หรือ “สถานีรัก” ทีแรกมองไปอาจคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถานีกันตัง เพราะมีการตกแต่งที่งดงามคล้ายคลึงกันมาก ตัวร้านตกแต่งด้วยสีเหลืองออกแนววินเทจ ๆ หน่อย ด้านที่ติดฝั่งถนนจะมีสวนดอกไม้เล็ก ๆ บนผนังก็นำเอาจักรยานโบราณทั้งคันไปแขวนเอาไว้ มีที่นั่งด้านหน้าสำหรับนั่งชิว ๆ ส่วนด้านในแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วนเคาน์เตอร์สำหรับสั่งกาแฟซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ กับส่วนที่นั่งทาน ซึ่งเหมือนแบ่งเป็นอีกห้องนึง มีของเก่า ๆ ประดับประดาเป็นจำนวนมาก เหมาะสำหรับการถ่ายสุดๆค่ะ ส่วนเมนูเครื่องดื่มที่นี่ ที่อยากแนะนำว่าห้ามพลาด คือนำมะม่วงเบาปั่น โดยเจ้ามะม่วงเบานี้เป็นพันธุ์ที่ปลูกกันมากและโดดเด่นที่สุดของจังหวัดตรังด้วย ราคา 40-50 บาท ได้นั่งชิมกาแฟอร่อย ๆ กับบรรยากาศเพลิน ๆ ให้ได้หายเหนื่อยจากการเที่ยวชม และถ่ายรูปที่สถานีรถไฟกันตัง ก็ถือว่าคุ้มมากๆแล้วละค่ะ
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
ไม่ไกลกันนั้น มีพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สถานที่อีกแห่งที่เต็มไปด้วยประวัติศาตร์เก่าแก่ของตรัง และรวบรวมเรื่องราวในอดีตเอาไว้มากมาย ตั้งอยู่บัวถนนหน้าค่าย อยู่ห่างจากเทศบาลกันตังประมาณ 200 เมตร เรียกอีกชื่อว่า “จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง” หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรัง ลักษณะของบ้านเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งและเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่างครบถ้วน โดยทายาทตระกูล ณ ระนอง เป็นผู้ดูแลรักษา ชาวกันตังและเทศบาลเมืองกันตัง เห็นว่าบ้านหลังนี้คือหลักฐานสำคัญทาง ประวัติศาสตร์ที่ควรรักษาไว้คู่เมืองตรัง จึงคิดจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงชีวิต และผลงานของพระยารัษฎาฯ ให้ชาวตรังได้ศึกษาจดจำ โดยได้ขออนุญาตใช้เป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงคุณูปการของพระยารัษฎาฯ ขอใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อ 10 กันยายน 2535 ใช้นามว่า พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)